สาเหตุ อาการ วิธีรักษาม่านตาอักเสบ - Causes, Symptoms, Treatment of Uveitis

ภาวะม่านตาอักเสบ (Uveitis)

ภาวะม่านตาอักเสบ เป็นการอักเสบของของผนังชั้นกลางของลูกตา ส่งผลให้เนื้อเยื่อในภายในลูกตาทำงานได้น้อยลง จากการถูกทำลายโดยเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารกระตุ้นการอักเสบ อาจส่งผลให้การมองเห็นลดลงหรือถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ภาวะม่านตาอักเสบ

ภายในลูกตาของคนเรานั้น มีผนังชั้นกลางของลูกตา (uvea) ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างย่อย ๆ ได้แก่ ม่านตา (iris) ทำหน้าที่ปรับระดับแสงที่เข้าในตา เนื้อเยื่อซิลเลียรี่ (ciliary body) ทำหน้าที่สร้างน้ำในลูกตา (aqueous humor) และเนื้อเยื่อคอรอยด์ (choroid) ซึ่งเป็นชั้นเส้นเลือดอยู่ระหว่างตาขาว (sclera) กับจอประสาทตา (retina) ทำให้หน้าที่ให้สารอาหารและออกซิเจนแก่จอตา

ม่านตาอักเสบ เป็นการอักเสบของผนังชั้นกลางของลูกตา ส่งผลให้เนื้อเยื่อภายในลูกตาทำงานได้น้อยลง จากการถูกทำลายโดยเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารกระตุ้นการอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลให้การมองเห็นลดลงหรือถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้ ดังนั้น การพบจักษุแพทย์อย่างทันท่วงที เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ภาวะม่านตาอักเสบ มีกี่ประเภท?

สามารถแบ่งตามตำแหน่งของการอักเสบที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • ม่านตาอักเสบส่วนหน้า (anterior uveitis) เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด โดยการอักเสบจะเกิดขึ้นด้านหน้าของลูกตา โดยเฉพาะในบริเวณม่านตาหรือเนื้อเยื่อซิลเลียรี่ ประเภทนี้มักทำให้เกิดอาการตาแดงหรือปวดตาเฉียบพลัน
  • ม่านตาอักเสบส่วนกลาง (intermediate uveitis) จะพบการอักเสบในบริเวณวุ้นตาเป็นหลัก รวมถึงอาจพบเส้นเลือดจอตาอักเสบร่วมได้
  • ม่านตาอักเสบส่วนหลัง (posterior uveitis) เป็นการอักเสบในชั้นจอตาหรือคอรอยด์ เป็นชนิดที่ทำให้การมองเห็นลดลงได้อย่างมาก
  • ม่านตาอักเสบตลอดทั้งส่วนของลูกตา (panuveitis) ซึ่งเกิดการอักเสบตั้งแต่ส่วนหน้าถึงส่วนหลังของดวงตา

อาการม่านตาอักเสบ เป็นอย่างไร?

อาการของม่านตาอักเสบ มีความหลากหลายขึ้นกับตำแหน่งและความรุนแรงของการอักเสบ โดยสามารถเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไป และเป็นได้ในเฉพาะตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง  อาการทั่วไปที่พบได้บ่อยได้แก่

  • ปวดตา ตาแดง มักไม่มีขี้ตา
  • สู้แสงไม่ได้
  • การมองเห็นลดลง
  • มองเห็นจุดลอยไปลอยมา

ม่านตาอักเสบ มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

ม่านตาอักเสบสามารถมีสาเหตุที่หลากหลาย ได้แก่ การติดเชื้อ ภาวะภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ มะเร็งจอตา ซึ่งพบได้น้อย อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย แม้มีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการแล้ว ก็ไม่พบสาเหตุของม่านตาอักเสบที่ชัดเจน โรคม่านตาอักเสบ สามารถสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ ได้ เช่น  โรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคเริม งูสวัด โรคซิฟิลิส โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) วัณโรค โรคภูมิคุ้มกันตนเอง ได้แก่ โรคเบเชต (Behcet’s disease) โรคลูปัสหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis)  ข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing spondylitis) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

  • โรคต้อกระจก
  • โรคต้อหิน
  • เส้นประสาทตาได้รับความเสียหาย
  • การสูญเสียการมองเห็นถาวร
  • จอประสาทตาลอก
  • จอประสาทตาเป็นแผล
  • จอประสาทตาบวม

ม่านตาอักเสบ มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร?

  • การประเมินการมองเห็น
  • การวัดความดันลูกตา
  • การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ทางตา  (Slit-lamp microscope)  
  • การถ่ายภาพจอประสาทตา (Color fundus retinal photography)
  • การตรวจวินิจฉัยจอประสาทตาด้วยคลื่นแสง (Optical coherence tomography: OCT) 
  • การตรวจจอประสาทตาด้วยการฉีดสารเรืองแสง (Fluorescein angiography)
  • การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุจากการติดเชื้อหรือโรคภูมิคุ้มกันตนเอง
  • การตรวจทางรังสีวิทยาได้แก่  เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

Eye Drop

ม่านตาอักเสบ มีวิธีการรักษาอย่างไร?

การรักษาทั่วไปในระยะเริ่มต้นมีเป้าหมายเพื่อลดการอักเสบให้ได้เร็วและมากที่สุด เพื่อป้องกันการเสียหายของเนื้อเยื่อในลูกตาจากการอักเสบที่ตามมา ประเภทของยาที่ใช้รักษาประกอบด้วย

  • ยาสเตียรอยด์ มีหลายรูปแบบ หากเป็นม่านตาอักเสบส่วนหน้าอาจใช้ ยาหยอดสเตียรอยด์หยอดบ่อยๆ หากเป็นม่านตาอักเสบส่วนกลางหรือหลัง มักใช้เป็นแบบรับประทานหรือให้ทางหลอดเลือดดำ หรืออาจใช้รูปแบบฉีดเข้าวุ้นตาในบางราย
  • ยาหยอดตาเขยายม่านตา ช่วยบรรเทาอาการเจ็บตาจากอักเสบที่ม่านตาและเนื้อเยื่อซิลเลียรี่ (ciliary body)
  • ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัส เพื่อควบคุมการติดเชื้อ
  • ยากดภูมิคุ้มกัน ในกรณีโรคม่านตาอักเสบมีความรุนแรง หรือจำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน

เมื่อรับการวินิจฉัยและรักษาแล้ว ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามอาการ ประเมินการอักเสบอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องมีการปรับยาอยู่ต่อเนื่อง ตลอดจนเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจตามมา เช่น  ภาวะต้อกระจก หรือ ความดันตาสูง

เมื่อการอักเสบในม่านตาสงบแล้ว หากผู้ป่วยกลับมามีอาการอีกครั้งหรืออาการแย่ลง ควรเข้ารับการตรวจโดยจักษุแพทย์โดยเร็ว

Uveitis Infographic Th

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 17 พ.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. กฤติเดช เดชะคุปต์

    นพ. กฤติเดช เดชะคุปต์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาจอตาและวุ้นตา
    ผ่าตัดจอประสาทตา, ต้อกระจก, การผ่าตัดต้อกระจก, โรคตาทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. ดิศรณ์ สุวจนกรณ์

    นพ. ดิศรณ์ สุวจนกรณ์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาจอตาและวุ้นตา
    Ophthalmology, จอประสาทตาและน้ำวุ้นตา
  • Link to doctor
    นพ. วิจักษณ์ คงวัฒนานนท์

    นพ. วิจักษณ์ คงวัฒนานนท์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาจอตาและวุ้นตา
    จอประสาทตาและน้ำวุ้นตา
  • Link to doctor
    นพ. ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์

    นพ. ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาจอตาและวุ้นตา
    การผ่าตัดต้อกระจก, จอประสาทตาและน้ำวุ้นตา, ม่านตาอักเสบ, โรคทางกระจกตาและตาส่วนนอก
  • Link to doctor
    นพ. อภิวัฒน์ มาวิจักขณ์

    นพ. อภิวัฒน์ มาวิจักขณ์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาจอตาและวุ้นตา
    จอประสาทตาและน้ำวุ้นตา, โรคจอประสาทตาในเด็ก