รู้ลึกมะเร็งปอด: สถิติ อาการ ระยะของมะเร็ง ถึงขั้นตอนการรักษา
มะเร็ง เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลงของ DNA ใน Nucleus (mutation) ทำให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวเอง ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของร่างกาย นอกจากโตเป็นก้อนภายหลังการแบ่งตัวนอกเหนือการควบคุม มะเร็งยังรุกรานแทรกเข้าไปยังอวัยวะใกล้เคียง แทรกเข้าไปในท่อน้ำเหลือง (lymphatic vessels) เข้าไปสู่ต่อมน้ำเหลือง (lymph nodes) และแทรกซึมผ่านเส้นเลือด (blood vessels) เข้าสู่กระแสเลือด พอถึงจุดนี้แล้ว เซลล์มะเร็งสามารถไปได้ทั่วร่างกาย สู่ ปอด ตับ สมอง กระดูก เป็นต้น เมื่อเข้าไปแล้ว เซลล์ก็จะแบ่งตัวต่อไปจนเป็นก้อนโต และขัดขวางการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ
สถิติการเกิดมะเร็งปอด ทั่วโลกและในประเทศไทย
สถิติการเกิดมะเร็งทั่วโลกในปี คศ.2022 (พศ.2565) คือ 20 ล้านราย ในจำนวนนี้มีมะเร็งปอดเกิดขึ้น 2.5 ล้านราย ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งในจำนวนมะเร็งทั้งหลายของร่างกาย
สถิติในปี คศ.2021 (พศ.2564) ทั่วโลก มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6 รองลงมาจากโรคหัวใจ, Covid-19, หลอดเลือดสมองตีบตัน (Stroke), โรคปอดเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease), การติดเชื้อในปอด (lower respiratory infection)
ในประเทศสหรัฐอเมริกา มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 2 รองจากโรคหัวใจขาดเลือด โดยมีมะเร็งปอดเป็นสาเหตุอันดับแรกในกลุ่มผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง
ในประเทศไทย จากสถิติมะเร็งที่ตีพิมพ์ทุก 3 ปี มะเร็งเกิดขึ้น (วินิจฉัย) 180,000 รายในปี พศ.2565 และจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก 50 % ในปี คศ.2045 (พศ.2588) ที่โชคร้ายคือมะเร็งที่พบและวินิจฉัยได้ในประเทศไทยประมาณ 40 % เป็นระยะหลังๆ (advanced stage) ซึ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี และอัตราการตายสูง
บุหรี่ หนึ่งในสาเหตุหลักของมะเร็งปอด
สาเหตุการเกิดมะเร็งปอด เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลง โดยการเกิด mutation ของ DNA ของเซลล์ปอด ซึ่งมีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ
- สาเหตุจากภายนอก (external cause) ได้แก่ การสูบบุหรี่ ทั้งตัวผู้ป่วยเอง (active smoker) และคนรอบข้างที่สูดลมหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไป (passive smoker) ยิ่งสูบบุหรี่มาก ๆ หลายปี เยื่อบุในปอดยิ่งถูกระคายเคืองจากควันบุหรี่มากขึ้น จนเซลล์ในปอดไม่สามารถซ่อมแซมให้เหมือนเดิมได้ และกลายเป็นมะเร็งไป นอกจากการสูบบุหรี่แล้ว อากาศไม่บริสุทธิ์ (air pollution), สารเคมีในอากาศ (contamination) ที่หายใจเข้าไป ก็เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดได้เช่นกัน
- สาเหตุจากภายใน (internal cause) เป็นการเปลี่ยนแปลงไปเอง (somatic mutation) ของ DNA ในเซลล์ปอด โดยปกติแล้ว Gene ที่อยู่ใน DNA ของเซลล์ควบคุมการแบ่งตัวและการเจริญเติบโต และการทำลาย (programmed cell death) เป็นระยะ ๆ (set rate) เพื่อควบคุมจำนวนเซลล์ให้เท่า ๆ เดิม แต่ในระหว่างกรรมวิธีนี้ เกิดการผิดพลาดขึ้น (accident) ทำให้มี mutation ขึ้นมา เกิดเป็นเซลล์ที่ผิดปรกติ ซึ่งร่างกายควบคุมไม่ได้ (เซลล์มะเร็ง) และแบ่งตัวเองอย่างรวดเร็วจาก 1 เซลล์ เป็น 2, จาก 2 เป็น 4, จาก 4 เป็น 8 และต่อไปเรื่อย ๆ จนเป็นก้อนใหญ่ ทำให้เกิดอาการ และการแพร่กระจาย
สังเกตอาการของมะเร็งปอด
อาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มะเร็งก่อตัวขึ้นมา และขนาดของก้อนมะเร็ง อวัยวะใกล้เคียงตัวก้อน และระยะขั้นตอนของการแพร่กระจาย โดยอาการที่มักจะเริ่มต้นคือ
- ไอ เพราะมะเร็งเหมือนสิ่งแปลกปลอม (foreign body) ระคายเคืองเนื้อเยื่อ (tissue)
- ไอเป็นเลือด เมื่อมะเร็งทำลายผนังของหลอดเลือดใกล้เคียง
- หายใจหอบเหนื่อยในกรณีที่ก้อนมะเร็งโต เข้าไปอุดตันท่อหายใจ
- เจ็บหน้าอกในกรณีที่ก้อนมะเร็งกดทับเส้นประสาท หรือผนังของทรวงอก (chest wall)
- มีไข้ในกรณีที่มีการติดเชื้ออักเสบ (post obstructive pneumonitis)
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลด
- เสียงแหบ ในกรณีที่ก้อนมะเร็ง หรือต่อมน้ำเหลืองที่มะเร็งแพร่กระจายไป (metastasis) โตขึ้นและกดทับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล่องเสียง (larynx)
- กลืนลำบากในกรณีที่ก้อนมะเร็งหรือต่อมน้ำเหลืองกดทับหลอดอาหาร (esophagus)
นอกจากนี้ อาการที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยไปหาแพทย์ อาจจะเป็นอาการของอวัยวะที่มะเร็งได้เดินทางไปสถิตย์อยู่ (distant metastasis) เช่น ปอด กระดูก อาการทางสมอง เป็นต้น
แพทย์ตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดอย่างไร
เนื่องจากการรักษามะเร็งปอดขึ้นอยู่กับระยะขั้นตอนของโรค ดังนั้นจึงต้องมีการประเมินอย่างละเอียด เริ่มต้นโดยแพทย์ถาม ซักประวัติ ถามอาการ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด รังสีวินิจฉัย เช่น X-Ray ปอด, CT Scan, MRI, PET/CT Scan ทั้งตัว และเอาชิ้นเนื้อ (tissue sample) มาตรวจเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นมะเร็งและเป็นชนิดใด ซึ่งมะเร็งปอดแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ เซลล์มีขนาดเล็ก (Small cell lung cancer: SCLC) และขนาดใหญ่ (Non-small cell lung cancer: NSCLC) ซึ่งชนิดของมะเร็ง สามารถช่วยบอกการพยากรณ์โรค (prognosis) ได้
ประมาณ 80-85 % ของมะเร็งปอด เป็นชนิด NSCLC ซึ่งยังแบ่งเป็นชนิดย่อย (subtype) ลงไปอีก ได้แก่ Adenocarcinoma (ซึ่งชนิดนี้ยังมี subtype ย่อยลงไปอีก และจะไม่กล่าวถึงในที่นี้), Squamous cell carcinoma และ large cell carcinoma (ซึ่งชื่อก็บอกว่าเป็นเซลล์ขนาดใหญ่) นอกจากตรวจดูชนิดแล้ว ยังต้องมีการตรวจลึกลงไปถึง molecular profile เพื่อตรวจสอบ genetic mutation, และ biomarkers เพื่อประโยชน์ในการรักษาด้วยยา
ระยะของโรคมะเร็งปอด
TNM staging systems เป็นระบบในการพิจารณาว่ามะเร็งอยู่ในขั้นไหน โดยจะพิจารณาร่วมกันใน 3 ปัจจัย ได้แก่
- T คือ Tumor (ก้อนมะเร็ง)
- N คือ Lymph node (ต่อมน้ำเหลือง)
- M คือ Metastasis (แพร่กระจายออกไป)
TNM มีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก แต่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น จะแบ่งระยะขั้นตอนของมะเร็งปอด คร่าว ๆ ดังนี้
- ระยะขั้นที่ 0: Occult (Hidden cancer) ก้อนมะเร็งไม่ปรากฎ แต่พบเซลล์มะเร็งในเสมหะ หรือน้ำในปอด (bronchial washing)
- ระยะขั้นที่ 1: ก้อนมะเร็งขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร ไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่น
- ระยะขั้นที่ 2: ก้อนมะเร็งใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร แต่เล็กกว่า 7 เซนติเมตร ไม่แพร่กระจาย
- ระยะขั้นที่ 3: ก้อนมะเร็งใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 7 เซนติเมตร แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็ง 2 ก้อน อยู่ในปอดกลีบเดียวกัน แต่ไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ
- ระยะขั้นที่ 4: มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของปอด ในน้ำที่ท่วมปอด (pleural effusion) และในน้ำท่วมหัวใจ (pericardial effusion) หรือมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ตับ สมอง กระดูก หรือแม้แต่ปอดคนละข้าง เช่นจากปอดซ้าย ไปปอดขวา หรือขวาไปซ้าย ซึ่งหมายถึง เซลล์มะเร็งได้เข้าไปในกระแสเลือดแล้ว (hematogenous spread)
มะเร็งปอดรักษาด้วยวิธีใดได้ผลดีที่สุด
การรักษามะเร็งปอดขึ้นอยู่กับขั้นตอนระยะของโรค ในระยะขั้นตอนต้น ๆ ของโรค เช่น 1 และ 2 การรักษามักเป็นการผ่าตัด เอาก้อนออก และเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองออกถ้าทำได้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยรับการผ่าตัดไม่ได้ เช่น อายุมาก สมรรถภาพของปอด (pulmonary function) ไม่ดี มีโรคร้ายแรง (co-morbidity) ประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคทางสมอง เบาหวานควบคุมไม่ได้ ก็อาจไม่เหมาะที่จะผ่าตัด ดังนั้น การรักษาก็อาจจะเป็นการฉายรังสี +/- ยาเคมีบำบัดแทน
ในระยะขั้นที่ 3 เมื่อผ่าตัดเอาก้อนออกไม่ได้ ก็มักเป็นการรักษาทั้งตัวโดย เคมีบำบัด (chemotherapy) และหรือยามุ่งเป้า (targeted therapy) ยาเพิ่มภูมิต้านทานมะเร็ง (Immuno-Oncology) ร่วมกับรังสีรักษา (Radiation therapy) โดยอาจจะเริ่มยาก่อน (Neoadjuvant) แล้วตามด้วยรังสีรักษา หรือให้ไปพร้อม ๆ กัน (concurrent chemo-radiation) ถ้าโรคตอบสนองดี อาจมีการพิจารณาผ่าตัดเอาก้อนที่เหลือออกได้ แล้วแต่วิจารณญาณของทีมแพทย์
สำหรับโรคในระยะที่ 4 การรักษาจะเป็นแบบ systemic โดยยาเคมีบำบัด Targeted therapy, Immunotherapy ที่กล่าวมาแล้ว ส่วนรังสีรักษาจะมีการใช้ในระยะที่ 4 ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการจากโรค เช่นปวดกระดูกในกรณีที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปกระดูก เพื่อลดการปวด และป้องกันไม่ให้กระดูกหัก (Prevention of pathological fracture) หรือในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่สมอง ซึ่งยาเคมีบำบัดหรือยามุ่งเป้า และยาเพิ่มภูมิต้านทานไม่สามารถกำจัดได้ และในกรณีที่ผู้ป่วยไอเป็นเลือดสด ๆ การให้รังสีรักษา ก็อาจทำให้ก้อนมะเร็งยุบและหยุดเลือดออก (bleeding) ได้
รักษามะเร็งปอดต้องอาศัย ทีมแพทย์เฉพาะทางหลายสาขา
การรักษามะเร็งปอด ประกอบด้วยแพทย์หลายสาขา เริ่มต้นด้วย
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางปอด (Pulmonologist)
- แพทย์ทางรังสีวินิจฉัย เพื่อตรวจดูระยะขั้นตอนของโรคโดย X-Ray, CT Scan, MRI, PET/CT Scan
- แพทย์ทางพยาธิวิทยา (Pathologist) ตรวจชิ้นเนื้อมะเร็ง (Tissue sample) ซึ่งเอาออกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางปอด โดยการส่องกล้องเข้าไปในท่อหายใจ (bronchoscopy) ถ้าก้อนมะเร็งอยู่ห่างจากท่อหายใจ (tracheo - bronchial tree) ออกไปมาก และ bronchoscopy ไปไม่ถึง ก็เอา tissue sample มาตรวจโดยใช้ CT Scan ช่วย (CT-Guided biopsy) โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (interventional radiologist)
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งแล้ว ทีมแพทย์ซึ่งประกอบไปด้วย แพทย์ผ่าตัดทรวงอก (Thoracic Surgeon) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีบำบัด รวมถึง Targeted therapy, Immuno-Oncology (Medical oncologist) และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษา (Radiation oncologist) จะปรึกษาและพิจารณาหาแนวทางในการรักษาร่วมกันเป็นทีมเวิร์ก (multidisplinary team)
ผู้ป่วยมะเร็งปอด มีชีวิตยืนยาวเท่าไร
การพยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับระยะขั้นตอนของโรค สุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วยเอง ชนิดของมะเร็ง เซลล์ตัวเล็ก (SCLC) ร้ายแรงกว่า (more aggressive) เมื่อเทียบกับเซลล์ตัวใหญ่ (NSCLC) ซึ่งแพร่กระจายช้ากว่า และขึ้นอยู่กับการรักษา โดยทั่วไป ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ที่ 5 ปี จากสถิติของ SEER stages ดังนี้
ระยะของโรค |
เซลล์ตัวใหญ่ (NSCLC) |
เซลล์ตัวเล็ก (SCLC) |
ระยะเริ่มต้น |
65 % |
30% |
ระยะแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง |
37% |
18% |
ระยะแพร่กระจายไปในเลือด (Distant) |
9% |
3% |
โรงพยาบาลเมดพาร์ค เป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการรักษาโรคมะเร็งครบวงจร มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา สำหรับรักษามะเร็งปอด มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอด สามารถให้คำแนะนำ screening tests ในคนที่มีความเสี่ยงสูง (high risk group) เช่น คนสูบบุหรี่หลายปี งานอาชีพที่สูดลมหายใจที่มีสารเคมี โดยใช้ Low dose CT Scan ทรวงอก ตรวจประจำปี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวินิจฉัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดทรวงอก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีบำบัดรวมทั้งยามุ่งเป้า ยาเพิ่มภูมิคุ้มกัน (Immuno-Oncology) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์จีโนม เวชศาสตร์นิวเคลียร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษา และบุคลากรอื่น ๆ เฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ด้วยวิทยาการก้าวหน้า เครื่องมือทันสมัยเพื่อพร้อมดูแลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ได้ผลดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด