เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ทำไม ฝนฟ้าอากาศ ทำให้เกิดโรคหน้าฝน
- โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหารและน้ำ
- โรคติดต่อจากการสัมผัส
- โรคติดต่อนำโดยยุงลาย
- วิธีดูแลสุขภาพ ช่วงหน้าฝน
ฝนฟ้าอากาศ โรคหน้าฝน ต้องระวัง
ฝนฟ้าอากาศ ในฤดูฝน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของลมประจำฤดู หรือลมมรสุม (Monsoonal wind) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดพาเอาไอน้ำจากทะเลเข้าสู่แผ่นดิน ทำให้มีฝนตกชุกต่อเนื่องหลายเดือนตลอดฤดูฝน โดยมีปัจจัยเสริม เช่น ร่องมรสุมพาดผ่าน พายุดีเปรสชัน และลักษณะภูมิประเทศ สำหรับประเทศไทย ฤดูฝนเริ่มประมาณเดือนพฤษภาคมจนถึงตุลาคม โดยช่วงเดือนที่ฝนตกชุกมากที่สุดมักอยู่ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน และมักนำพามาซึ่งโรคหน้าฝน ที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คน
ทำไม ฝนฟ้าอากาศ ทำให้เกิดโรคหน้าฝน
อุณหภูมิที่เย็นลงในช่วงหน้าฝน ความชื้นในอากาศที่สูงขึ้น และแหล่งน้ำท่วมขังจากฝนตกชุก เป็นสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด ทั้งยังสามารถแพร่กระจายเชื้อสู่คนได้ง่ายและเร็วมากยิ่งขึ้นทั้งทางอากาศ น้ำ และสัตว์พาหะนำโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอแล้วไปสัมผัสโดนกับละอองฝน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค และทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคหน้าฝนได้ง่ายยิ่งขึ้น
4 กลุ่มโรคหน้าฝน ที่พบบ่อย
1. โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ
- โควิด 19 (COVID 19)
- โควิด 19 (COVID 19) โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ที่ติดต่อผ่านการหายใจเอาละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลายเข้าสู่ปาก จมูก และ/หรือลงสู่ปอด หรือเอามือไปสัมผัสกับวัตถุที่มีเชื้อไวรัส COVID-19 (SARS-CoV-2) ปนเปื้อน แล้วไปโดนจมูก ปาก หรือตา แล้วทำให้เกิดการติดเชื้อและแสดงอาการของโรคโควิด 19 (โดยทั่วไป มีอาการใน 3-4 วัน)
- อาการ มีไข้ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจลำบาก เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ การดมกลิ่นหรือรับรสผิดปกติ
- คำแนะนำ สวมหน้ากากอนามัย กักตัว แยกตัว และตรวจ ATK หากผลเป็นบวกและมีอาการรุนแรง มีภาวะปอดอักเสบ หรือมีอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) ให้ไปตรวจรักษาโควิดที่ รพ. ทันที
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) โรคติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza A, B หรือ C) ในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ที่ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการหายใจเอาละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลายเข้าไป หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ปนเปื้อน แล้วใช้มือไปสัมผัสโดนจมูก ปาก หรือตา โดยมักเริ่มมีอาการประมาณ 1-4 วัน
- อาการ มีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ตาแดง ตาแฉะ และอ่อนเพลีย
- คำแนะนำ สวมหน้ากากอนามัย แยกตัว ทานยาลดไข้ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ หากภายใน 24 ชม. หลังทานยาลดไข้แล้วอุณหภูมิร่างกายไม่ลดลง อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ให้ไปตรวจรักษาที่ รพ.
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia) โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราผ่านการหายใจ ไอ จาม หรือสำลักเอาน้ำลาย น้ำดื่ม หรืออาหาร ที่มีเชื้อสะสมบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนแล้วลงสู่ปอด จนทำให้เกิดปอดบวม หรือปอดอักเสบ
- อาการ เริ่มป่วยเหมือนไข้หวัด มีไข้สูง อ่อนเพลีย ไอมีเสมหะ ร่วมกับคลื่นไส้ หายใจหอบเหนื่อยเฉียบพลัน อาเจียน และเจ็บแน่นหน้าอก
- คำแนะนำ เมื่อเริ่มมีไข้หวัด ให้เว้นระยะห่าง ทานยาลดไข้ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีไข้สูงลอย มีอาการอ่อนเพลีย หายใจลำบาก และเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ให้รีบไปพบแพทย์ที่ รพ.
2. โรคติดเชื้อทางเดินอาหารและน้ำ
- อุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute diarrhea)
- อุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute diarrhea) โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการรับเชื้อแบคทีเรีย พยาธิ โปรโตซัว หรือไวรัส เช่น โรต้าไวรัส หรือโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนมากับอาหาร น้ำดื่ม หรือน้ำแข็งที่ไม่สะอาด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอมแล้วนำเข้าปาก จนทำให้เกิดอาการท้องเสีย อุจจาระร่วงเฉียบพลัน
- อาการ ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชม. หรือถ่ายปนมูกเลือด 1 ครั้งหรือมากกว่าภายใน 24 ชม. มีอาการปวดท้อง ปวดบิด ปวดเบ่ง ปวดบีบเกร็ง มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ใจสั่น
- คำแนะนำ ทานยาคาร์บอน และจิบน้ำผสมผงเกลือแร่ ORS เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ หากถ่ายเหลวต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน และมีไข้สูง ปวดท้องรุนแรง ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมากคล้ายน้ำซาวข้าว ซึม ปากแห้ง กระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ให้รีบนำส่งแพทย์ที่ รพ.
3. โรคติดต่อจากการสัมผัส
- มือ เท้า ปาก (HFMD)
- มือ เท้า ปาก (HFMD) โรคติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส (Human enteroviruses) ในระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย แผล ตุ่มน้ำพองใส หรืออุจจาระของผู้ที่มีเชื้อ หรือสัมผัสทางอ้อมกับวัตถุ สิ่งของ หรือของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วนำเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี (ระยะฟักตัว 3-5 วัน)
- อาการ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บปาก เจ็บคอ เริ่มงอแง น้ำลายไหล ไม่อยากอาหาร มีแผลที่กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ลิ้น มีผื่นขนาดเล็กขึ้นเป็นจุดแดง หรือตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจมีผื่นที่แขน ขา และตามลำตัว
- คำแนะนำ แยกเด็กหรือผู้ป่วยไม่ให้ไปสัมผัสกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัย เช็ดตัวและทานยาลดไข้ ให้ทานอาหารอ่อน ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง ทำความสะอาดของใช้ หากมีไข้สูงเกิน 39 องศา นานกว่า 48 ชม. กระสับกระส่าย ร้องไห้แจ อาเจียนบ่อย ปวดหัวมาก ตัวซีดลาย เหนื่อยหอบง่าย และอ่อนเพลียมาก ให้รีบนำส่งแพทย์ที่ รพ.
- โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
- โรคฉี่หนู (Leptospirosis) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ผ่านการสัมผัสกับเชื้อก่อโรคฉี่หนู เลปโตสไปรา (Pathogenic Leptospires) ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู สุกร สุนัข หรือโค กระบือ และปนเปื้อนมากับน้ำหลากไหลบ่าในช่วงหน้าฝน หรือสภาพแวดล้อมที่มีน้ำท่วมขัง แล้วติดต่อสู่คนผ่านผิวหนังทางบาดแผล ตา จมูก ปาก หรือเชื้อโรคชอนไชเข้าผิวหนังที่แช่ในน้ำเป็นเวลานาน หรือทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนไม่ผ่านการปรุงสุก (ระยะฟักตัว 7-12 วัน )
- อาการ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ สับสน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่องและหลังส่วนล่าง ร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น อาเจียน ท้องเสีย ตาแดง หรือเลือดออกใต้ตาขาว
- คำแนะนำ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบู๊ท ห้ามไม่ให้แผลโดนน้ำ ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด และทำความสะอาดที่พัก หากมีไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อรุนแรงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่องและโคนขาหลังสัมผัสกับน้ำท่วมขัง 1-2 สัปดาห์ ให้รีบพบแพทย์ที่ รพ. ทันที
- โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis)
- โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) โรคติดต่อผ่านการสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในคนและสัตว์ เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkhoderia pseudomallei) ผ่านการสัมผัสกับแหล่งดิน หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่เป็นรังโรคของเชื้อ และเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล การหายใจเอาละอองฝุ่นไอดิน หรือการสำลักน้ำหรือกลืนน้ำที่มีเชื้อก่อโรค (ระยะฟักตัว 1-21 วัน เฉลี่ย 4-9 วัน)
- อาการ มีไข้ หายใจหอบเหนื่อย มีจุดที่ปอดแต่ไม่แสดงอาการ มีตุ่มหนองหรือฝีที่ผิวหนัง ฝีหรือหนองที่ปอดหรืออวัยวะภายใน เนื้อเยื่อปอดอักเสบตาย และติดเชื้อในกระแสเลือดจนกระทั่งเสียชีวิต
- คำแนะนำ ทานอาหารและดื่มน้ำต้มสะอาด สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละออง สวมรองเท้าบู๊ท ถุงมือยาง กางเกงขายาว และชุดลุยน้ำทุกครั้งก่อนทำเกษตรกรรมในช่วงหน้าฝน หากมีประวัติการสัมผัสกับแหล่งดิน แหล่งน้ำ ร่วมกับมีไข้ หายใจหอบเหนื่อย หรือมีอาการคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อ เช่น ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย ให้รีบพบแพทย์ที่ รพ. โดยเร็ว
4. โรคติดต่อนำโดยยุงลาย
- ไข้เลือดออก (Dengue fever)
- ไข้เลือดออก (Dengue fever) โรคติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ที่มี 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายบ้าน หรือยุงไข้เหลืองเพศเมียเป็นสัตว์พาหะนำโรค ผ่านการกัดและแพร่เชื้อไวรัสไข้เลือดออกสู่คน จนทำให้เกิดอาการป่วย (ระยะฟักตัว 3-4 วัน เฉลี่ย 4-7 วัน)
- อาการ มีไข้สูงลอยแบบเฉียบพลัน 39-40 องศา ติดต่อกัน 2-7 วัน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ หน้าแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา ปวดข้อ ปวดกระดูก มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน มีจ้ำเลือด ผื่นแดงตามร่างกาย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียนร่วม (ผู้ที่ติดเชื้อครั้งที่ 2 มักมีอาการรุนแรงกว่าครั้งแรก)
- คำแนะนำ ทานยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอน ห้ามใช้ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน หรือยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDS เพราะจะยิ่งทำให้เลือดออกมากยิ่งขึ้น ให้จิบน้ำเกลือแร่ ORS เป็นระยะ เช็ดตัวทวนรูขุมขนเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย ทานอาหารอ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ หากมีไข้สูงลอยต่อเนื่องที่ไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ ให้รีบนำส่งแพทย์ที่ รพ . โดยเร็ว
- ชิคุนกุนยา (Chikungunya)
- ชิคุนกุนยา (Chikungunya) หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ที่มียุงลายบ้านหรือยุงลายสวน เป็นสัตว์พาหะนำโรค ผ่านการกัดและแพร่เชื้อไวรัสสู่คน จนทำให้เป็นไข้ชิคุนกุนยา (ระยะฟักตัว 1-12 วัน เฉลี่ย 3-7 วัน)
- อาการ มีไข้สูงเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการข้อบวมแดง ปวดข้อ เริ่มจากข้อมือ ข้อเท้า ข้อต่อแขนขา บางรายอาจมีผื่นขึ้น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตาแดง และคลื่นไส้
- คำแนะนำ ทานยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอน ยาบรรเทาปวดข้อ ห้ามใช้ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน หรือยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDS เช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิ ดื่มน้ำ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีไข้สูงลอยต่อเนื่อง 2-4 วัน หลังทานยาลดไข้ ตาแดงก่ำ ปวดข้อรุนแรงในหลาย ๆ จุดจนไม่สามารถขยับข้อได้ ให้รีบนำส่งแพทย์ที่ รพ.
- ไข้ซิกา (Zika fever)
- ไข้ซิกา (Zika fever) โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) ที่มียุงลายเป็นสัตว์พาหะนำโรคผ่านการกัดและแพร่เชื้อไวรัสสู่คน หรือการติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การถ่ายเลือด และจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ แล้วแสดงอาการของโรคไข้ซิกา (ระยะฟักตัว 2-14 วัน โดยเฉลี่ย 4-7 วัน) หรืออาจไม่แสดงอาการเลย
- อาการ มีไข้ต่ำ มีผื่นแดงขึ้นตามลำตัว แขนขา มีผื่นที่ฝ่ามือ เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง โดยทั่วไป อาการมักไม่รุนแรง และจะทุเลาลงภายใน 2-7 วัน ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะศีรษะเล็กในเด็กแรกเกิด เด็กมีพัฒนาการล่าช้า หรือแท้งบุตร
- คำแนะนำ ทานยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอน ยาบรรเทาปวดข้อ ห้ามใช้ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน หรือยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDS เช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิ พักผ่อน และดื่มน้ำให้มาก ๆ หากมีไข้สูงต่อเนื่องหลังทานยาลดไข้ ตาแดง และปวดข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ ให้รีบนำส่งแพทย์ที่ รพ. โดยเร็ว
วิธีดูแลสุขภาพ ช่วงหน้าฝน
ฝนฟ้าอากาศที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เป็นภาวะแวดล้อมที่ทำให้เกิดโรคติดต่อและภัยสุขภาพ อันนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของผู้คนในทุก ๆ ปี การดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองในช่วงฤดูฝน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรให้การใส่ใจดูแล ทั้งการพกร่มและเสื้อกันฝน การฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันให้เป็นปัจจุบัน การทานอาหารที่มีประโยชน์ การดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ การทานวิตามินเสริม และการออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงการหลีกเลี่ยงไม่ไปในพื้นที่น้ำท่วมขังหรือแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด การป้องกันไม่ให้ยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หากรักษาสุขลักษณะที่ดีเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงตลอดช่วงหน้าฝน