เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ไข้หวัดสายพันธุ์ A อาการ
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ติดต่อไหม
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A รักษายังไง
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A กี่วันหาย
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อันตรายไหม
- กลุ่มเสี่ยงสูงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
- ติดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ทำอย่างไร
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A)
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A คือ โรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ผ่านการสัมผัสกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H1N1 ที่ทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไข้หวัดสายพันธุ์ A ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้ภายใน 5-7 วัน แต่ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง อาจมีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสหรือมากกว่าต่อเนื่อง 7-10 วัน หรือนานกว่านั้น และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย เช่น ปอดอักเสบรุนแรง เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว ภาวะหายใจล้มเหลว ชัก และเสียชีวิต ผู้ที่มีอาการคล้ายหวัดและมีไข้ขึ้นสูงแบบเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการโดยเร็ว
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เกิดจากอะไร
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H1N1 ที่ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือละอองฝอยไอจาม หรือสัมผัสทางอ้อมกับวัตถุ เช่น ลูกบิดประตู ราวจับบันได หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนมากับเชื้อไวรัสแล้วใช้มือสัมผัสไปโดนจมูกและปาก เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนบริเวณโพรงจมูก ไซนัส และลำคอ จากนั้นจะเข้าสู่ระยะฟักตัวอย่างรวดเร็ว และลงสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างบริเวณกล่องเสียง หลอดลม และปอด อาจมีหรือไม่มีอาการ และสามารถแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้ภายใน 1-3 วัน
ไข้หวัดสายพันธุ์ A อาการ
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีอาการ ระยะเวลาดำเนินโรค และระดับความรุนแรงของอาการแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับอายุ โรคประจำตัว และภูมิต้านทาน อาจไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย ไปจนถึงมีอาการรุนแรงที่เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ดังนี้
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อาการทั่วไป
- มีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น
- ไอ ไอแห้ง ๆ
- เจ็บคอ
- จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย ถ่ายเหลว
- ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อาการรุนแรง
- มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียสต่อเนื่องนานกว่า 1 สัปดาห์
- ปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง
- เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว
- หัวใจเต้นเร็ว
- ความดันโลหิตต่ำ
- ภาวะหายใจล้มเหลว
- ชักจากไข้สูง (โดยเฉพาะในเด็กเล็ก)
- เสียชีวิต
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ติดต่อไหม
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงระบาด ฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และ ฤดูหนาว (ธันวาคม-มีนาคม) ของทุกปี เป็นสายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ได้เร็วกว่า แพร่กระจายได้เร็วกว่า และมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B โดยเมื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ระยะฟักตัว ช่วง 1-3 วันแรกหลังติดเชื้อ (น้อยรายที่จะอยู่ในระยะนี้ถึง 5 วัน) ผู้ติดเชื้ออาจยังไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ทันที
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ระยะแพร่เชื้อ ช่วง 1-7 วันหลังติดเชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่ 1 วันหลังติดเชื้อจนถึง 7 วันหลังติดเชื้อ และจะแสดงอาการของโรคอย่างเต็มที่ในวันที่ 3 นับจากวันที่ติดเชื้อ
อาการของผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ส่วนใหญ่จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้ภายใน 4-7 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบนำส่งแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ลงปอด ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หรือหอบหืดกำเริบ
การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
แพทย์จะวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A โดยการซักประวัติสอบถามอาการ วันที่เริ่มมีอาการ ระยะเวลาที่มีอาการ โรคประจำตัว และทำการตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ออกจากไข้หวัดทั่วไป และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น ๆ ดังนี้
ซักประวัติเพื่อแยกโรค ไข้หวัดทั่วไป และ ไข้หวัดใหญ่
- การเริ่มมีอาการ ไข้หวัดทั่วไปมักค่อย ๆ มีอาการอย่างช้า ๆ ไข้หวัดใหญ่ มักมีไข้และมีอาการร่วมแบบเฉียบพลัน
- ความรุนแรงของอาการ ไข้หวัดทั่วไปมักมีความรุนแรงของอาการน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่
- ระยะเวลาที่มีอาการ ไข้หวัดทั่วไปสามารถหายได้ภายใน 7 วัน ไข้หวัดใหญ่อาจมีไข้สูงต่อเนื่อง 7-10 วัน หรือนานกว่านั้น
- อาการร่วมอื่นๆ ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการร่วมอื่น ๆ นอกเหนือจากไข้หวัดทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย โดยเฉพาะในเด็ก
ตรวจ PCR (PCR Test)
เป็นการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก ลำคอ หรือเนื้อเยื่อ ส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส สามารถระบุชนิดของเชื้อไวรัสไข้หวัดทั่วไป หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A, B หรือ C ได้อย่างแม่นยำ โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดทั่วไป อาจเกิดจากเชื้อไวรัสโรคหวัดชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีมากกกว่า 200 สายพันธุ์ เช่น ไรโนไวรัส (Rhinovirus) ส่วนไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A, B หรือ C ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ยังแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H1N1 (ชนิดที่มีการระบาดมากที่สุด) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H3N2
ตรวจเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray)
ตรวจปอด เยื่อหุ้มปอด หลอดลม และกระบังลม เพื่อหาโรคหรือความผิดปกติ เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หรือการติดเชื้อ
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A รักษายังไง
หากผลการตรวจวินิจฉัยพบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โอลเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) หรือ ซานามิเวียร์ (Zanamivir) ชนิดรับประทานโดยเร็วที่สุด ยาชนิดนี้มีเอนไซม์ Neuraminidase ของไวรัส ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส H1N1 จากเซลล์ที่ติดเชื้อไปยังเซลล์ข้างเคียง ช่วยเร่งกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น โดยยาจะให้ผลดีที่สุดหากได้รับภายใน 48 ชม. หลังติดเชื้อ ทั้งนี้ ในผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือเด็กเล็กที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีด โดยยาจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดภายใน 2-3 วัน หลังการติดเชื้อ
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A กี่วันหาย
ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A กว่า 90% มีอาการไม่รุนแรง และสามารถหายเองได้ภายใน 5-10 วันโดยไม่ต้องรักษา หรือสามารถทุเลาอาการลงได้ด้วยการทานยา Paracetamol หรือยา ibuprofen ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และทำร่างกายให้อบอุ่น
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อันตรายไหม
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่มีความอันตรายสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบรุนแรง ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และการเสียชีวิต ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธุ์
กลุ่มเสี่ยงสูงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
กลุ่มเสี่ยงสูงที่อาจมีอาการรุนแรงหรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อน หากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ได้แก่
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี)
- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป
- สตรีตั้งครรภ์ หรือเพิ่งคลอดบุตรได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ (วัคซีนมีความปลอดภัยต่อสตรีตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร)
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัม หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
- ผู้พิการทางสติปัญญาที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ ไตวาย หอบหืด เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการให้เคมีบำบัด
- ผู้ที่เป็นโรคปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ธาลัสซีเมีย โรคตับ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บุคคลทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดครอบคลุม 4 สายพันธุ์ เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายที่มีต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยวัคซีนมีความปลอดภัย ช่วยลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อ และมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยวัคซีน 1 เข็ม สามารถป้องกัน
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H1N1
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H3N2
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata
ติดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ทำอย่างไร
- ทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยลดไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ *งดยาแอสไพริน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น งดการไปโรงเรียน ไปทำงาน หรือไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
- สวมหน้ากากอนามัย ผู้ที่ต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือกลุ่มเสี่ยง ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องไปในที่สาธารณะ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ที่ติดเชื้อควรนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ ทำร่างกายให้อบอุ่น และดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้อย่างเต็มที่
- ล้างมือให้สะอาด ผู้ที่ติดเชื้อควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือบ่อย ๆ
- หมั่นสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง หากมีอาการรุนแรง ควรรีบนำส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไวรัสร้ายที่ป้องกัน และรักษาได้
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H1N1 และชนิด H3N2 เป็นสาเหตุการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่และการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกในทุก ๆ ปี เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นชนิดที่มีความรุนแรง สามารถกลายพันธุ์ได้เร็ว และยังเป็นแล้วเป็นอีกได้ ทั้งนี้ แพทย์แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ทั้งในกลุ่มบุคคลทั่วไปและในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและช่วยลดความรุนแรงของโรค
ผู้มีไข้สูงลอยที่ไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ มีอาการอ่อนเพลียมาก ปวดหัวมาก ปวดท้องมาก กระสับกระส่ายไปมา อาเจียนบ่อย ไอต่อเนื่อง และหายใจลำบากมาก ควรรีบนำส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และรับยาต้านไวรัสโดยเร็ว ทั้งนี้ การได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ช่วยลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และช่วยให้แพทย์ให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงที