ปวดท้องน้อย แบบไหนอันตราย ต้องหาหมอโดยเร็ว - Pelvic Pain: Which type is critical and should see a doctor

ปวดท้องน้อย (Pelvic pain) แบบไหนอันตราย ต้องหาหมอโดยเร็ว

ปวดท้องน้อย (Pelvic pain) คือ อาการปวดท้องส่วนล่างตั้งแต่บริเวณใต้สะดือลงไปจนถึงหัวหน่าว อาการปวดท้องน้อยเกิดจากหลายสาเหตุทั้งจากโรคทั่วไป เช่น ท้องผูก อาหารเป็นพิษ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ปวดท้องน้อย (Pelvic pain)

ปวดท้องน้อย (Pelvic pain) คือ อาการปวดท้องส่วนล่างตั้งแต่บริเวณใต้สะดือลงไปจนถึงหัวหน่าว อาการปวดท้องน้อยเกิดจากหลายสาเหตุทั้งจากโรคทั่วไป เช่น ท้องผูก อาหารเป็นพิษ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จนถึงภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือเลือดออกในช่องท้อง อาการปวดท้องน้อยเกิดขึ้นได้ทั้งเพศหญิงและชาย อาจปวดแบบเฉียบพลันหรือปวดแบบเรื้อรังโดยมีระดับความปวดแตกต่างกันตามสาเหตุ อาการปวดท้องน้อยทั่วไปในสตรี เช่น ปวดประจำเดือน หรือการตั้งครรภ์ อาการปวดท้องน้อยทั่วไปในบุรุษ เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ หรือต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีอาการปวดท้องน้อยรุนแรงต่อเนื่อง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการ

ปวดท้องน้อย มีสาเหตุจากอะไร?

อาการปวดท้องน้อยเกิดจากหลายสาเหตุ โดยมักเกิดจากจากโรคหรือภาวะในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย 4 ระบบ ได้แก่ ระบบสืบพันธุ์ ระบบย่อยอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือระบบกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โดยรวมถึงเส้นประสาทและเส้นเอ็นบริเวณอุ้งเชิงกราน อาการปวดท้องน้อยมีสาเหตุจากโรคหรือภาวะในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้

  1. โรคในระบบสืบพันธุ์สตรี เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก ก้อนเนื้องอกที่ปีกมดลูก ถุงน้ำรังไข่ ช็อกโกแลตซีสต์ เนื้องอกรังไข่ พังผืดในอุ้งเชิงกราน ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ มดลูกอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ มดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะปวดปากช่องคลอดเรื้อรัง เส้นเลือดโป่งพองในอุ้งเชิงกราน มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก
  2. โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ นิ่วในไต การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในไต โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  3. โรคในระบบย่อยอาหาร เช่น ท้องผูก ลำไส้อุดตัน ลำไส้แปรปรวน ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ ไส้เลื่อน อาหารเป็นพิษ โรคบิด ติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร มะเร็งลำไส้
  4. โรคในระบบกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานผิดปกติ กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอักเสบ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง ข้อต่อกระดูกอุ้งเชิงกรานอักเสบ กล้ามเนื้อฉีกขาด
    • ภาวะทั่วไปในระบบสืบพันธุ์เพศชาย เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ ต่อมลูกหมากโต ไส้เลื่อน อัณฑะบิดตัว

Pelvic Pain 4

ปวดท้องน้อย มีอาการอย่างไร?

อาการปวดท้องน้อยขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคและตำแหน่งของอวัยวะที่ปวด อาจมีอาการปวดแบบตื้อ ๆ ปวดเสียด ปวดแปล๊บ ๆ ปวดจี๊ด ๆ หรือปวดเกร็ง อาจปวดแบบเฉียบพลันหรือปวดแบบเรื้อรัง มีระดับความปวดตั้งแต่ปวดไม่รุนแรง ปวดปานกลาง ไปจนถึงปวดรุนแรง อาจปวดแบบคงที่ ปวดขณะปัสสาวะ หรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ และมักมีตำแหน่งปวดที่บริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานและ/หรือปวดร้าวไปที่หลัง เอว สะโพก ต้นขา หรือขาหนีบ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วม

ปวดท้องน้อยตรงกลาง ตรงตำแหน่งระบบทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ มดลูก ไส้เลื่อน

  • ปวดเกร็งขณะมีประจำเดือน อาจมีสาเหตุจากอาการมดลูกผิดปกติ เนื้องอกมดลูก หรือมีเนื้อตายในมดลูก
  • ปวดท้องน้อย มีตกขาว มีกลิ่นเหม็น ร่วมกับมีไข้สูง อาจเกิดจากมดลูกอักเสบหรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • ปวดท้องน้อยตรงกลางเหนือหัวหน่าว ปวดแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะมีสีขุ่น หรือปัสสาวะปนเลือดอาจเกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ปวดท้องน้อยหน่วง ๆ ปวดหลัง พร้อมกัน ปวดด้านข้าง ร่วมกับมีไข้ อาจเกิดการติดเชื้อในไต
  • ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวด ๆ หาย ๆ หรือคลำพบได้ก้อนตรงกลางท้องน้อยอาจเกิดจากมดลูกอักเสบ เนื้องอกมดลูก 
  • ปวดท้องน้อย เหน็บชาบริเวณหัวหน่าว อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือท่อปัสสาวะอาจเป็นพังผืดกดทับเส้นประสาท 
  • ปวดท้องน้อยหน่วง ๆ ตรงกลาง แน่นท้อง ปวดแปล๊บขณะก้มตัวหรือยกของหนัก คลำพบได้ก้อนบริเวณที่ปวดอาจเป็นไส้เลื่อน

ปวดท้องน้อยด้านซ้าย ตรงตำแหน่งปีกมดลูกซ้าย ท่อไต รังไข่ซ้าย ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

  • ปวดเกร็งท้องน้อยซ้ายเป็นระยะร้าวลงต้นขา อาจเป็นอาการนิ่วในท่อไต หรือกรวยไตอักเสบ
  • ปวดท้องน้อยซ้ายหน่วง ๆ ในผู้หญิง มีตกขาว มีกลิ่นเหม็น ร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่นอาจเป็นอาการปีกมดลูกซ้ายอักเสบ
  • ปวดท้องน้อยซ้าย ปวดบีบ ปวดเกร็งที่ท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดอุจจาะบ่อย ๆ อาจเป็นลำไส้อักเสบ
  • ปวดท้องน้อยจี๊ด ๆ เป็น ๆ หาย ๆ คลื่นไส้ร่วมกับมีไข้ อาจเป็นลำไส้อักเสบเฉียบพลับ
  • ปวดท้องน้อยซ้าย ถ่ายอุจจาระปนเลือด อุจจาระปนมูกเลือด ท้องผูกเป็นประจำ ท้องผูกสลับท้องเสีย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด คลำพบได้ก้อนที่ท้องอาจเป็นเนื้องอกลำไส้ (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ที่อาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต

ปวดท้องน้อยด้านขวา ตรงตำแหน่งปีกมดลูกขวา ท่อไต รังไข่ขวา ไส้ติ่ง

  • ปวดเกร็งท้องน้อยขวาเป็นระยะร้าวลงต้นขา อาจเป็นอาการของนิ่วในท่อไต หรือกรวยไตอักเสบ
  • ปวดมวนท้องน้อย ถ่ายไม่ออก ถ่ายลำบาก แน่นท้อง ท้องอืด อึดอัดท้อง และปวดเกร็งท้องอาจเป็นท้องผูก
  • ปวดจุกแน่นรอบสะดือแล้วย้ายลงมาปวดที่ท้องน้อยขวาล่าง ปวดเสียด ปวดบีบ กดเจ็บมากที่ท้องน้อยขวาอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบ
  • ปวดท้องน้อยด้านขวาหน่วง ๆ ในผู้หญิง มีตกขาว มีกลิ่นเหม็น มีไข้สูงและหนาวสั่นอาจเป็นอาการปีกมดลูกขวาอักเสบ
  • ปวดท้องน้อยด้านขวา ปวดหน่วง ท้องอืด แน่นท้อง คลำได้ก้อนที่ท้องน้อยขวาอาจมีความผิดปกติที่รังไข่ หรือไส้ติ่งอักเสบ 
  • ปวดท้องน้อยด้านขวา จี๊ด ๆ ผู้หญิง อาจเป็นอาการก่อนหรือหลังมีประจำเดือน การตกไข่ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

Pelvic Pain 1

ปวดท้องน้อย มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร ?

แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการปวดท้องน้อยด้วยการซักประวัติ ตำแหน่งที่ปวด ลักษณะอาการปวด ความถี่ในการปวด และระยะเวลาในการปวด รวมถึงอาการร่วมอื่น ๆ จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายตรงตำแหน่งที่ปวดเพื่อหาอาการกดเจ็บรวมถึงการตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจเฉพาะทางอื่น ๆ ที่ลึกขึ้น ดังนี้

  1. การตรวจอัลตราซาวด์ท้องส่วนล่าง (Lower abdominal ultrasound) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสะท้อนไปที่อวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้องส่วนล่าง ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ท่อไต ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และไส้ติ่งแล้วแปลงเป็นสัญญาณภาพเพื่อช่วยให้แพทย์ตรวจหาความผิดปกติภายในช่องท้องส่วนล่างเพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรค รวมถึงวางแผนรักษาและให้การรักษาได้อย่างตรงจุด ในบางราย แพทย์อาจพิจารณาการตรวจอัลตราซาวน์ท้องส่วนบน (Upper abdominal ultrasound) ร่วมด้วย
  2. การตรวจภายใน และอัลตราซาวด์ช่องคลอด (Pelvic exam and Transvaginal ultrasound) เป็นการตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานสตรีโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทางหน้าท้องเพื่อให้เห็นภาพอวัยวะภายใน เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ มดลูก ปากมดลูก เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อ ซีสต์ ถุงน้ำรังไข่ เนื้องอก หรือมะเร็ง รวมถึงความผิดปกติอื่น ๆ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมากผิดปกติ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรืออาจกำลังตั้งครรภ์
  3. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscopy) เป็นการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยแพทย์จะทำการการสอดท่อขนาดเล็กที่โค้งงอได้ ส่วนปลายติดเลนส์และสายใยแก้วนำแสง ผ่านทางทวารหนักไปตามความยาวของลำไส้ใหญ่เพื่อค้นหาติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อที่อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็ง โดยหากตรวจพบ แพทย์จะทำการกำจัดติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อนั้นออกทันที การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักถือเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากเป็นทั้งการตรวจและการรักษาในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ แพทย์อาจพิจารณาการตรวจเฉพาะทางอื่น ๆ เพื่อช่วยยืนยันตำแหน่งของอวัยวะภายในที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บปวด เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น การทำ MRI การตรวจ PET/CT หรือ การตรวจการตั้งครรภ์

ปวดท้องน้อย มีวิธีการรักษาอย่างไร ?

แพทย์จะทำการรักษาอาการปวดท้องน้อยจากผลการวินิจฉัยโรคและตำแหน่งของอวัยวะภายในที่เป็นสาเหตุของอาการปวดโดยแพทย์อาจพิจารณาการรักษาร่วมกันกับทีมแพทย์เฉพาะทาง เช่น แพทย์ระบบทางเดินอาหาร สูตินรีแพทย์ แพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือแพทย์ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก และรวมถึงนักกายภาพบำบัด การรักษาอาการปวดท้องน้อยมีวิธีการดังนี้

  1. การรักษาด้วยการให้ยา (Medications) แพทย์อาจพิจารณาการรักษาอาการปวดท้องน้อยด้วยการให้ยาทั้งชนิดฉีดหรือชนิดรับประทาน ได้แก่ กลุ่มยาแก้ปวดชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ NSAIDS เช่น Ibuprofen, Naproxen กลุ่มยาฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น Progestin หรือกลุ่มยาฮอร์โมนแอนโดรเจน เช่น Danazol ให้กับผู้ที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซีสต์รังไข่ หรือปวดประจำเดือนเพื่อบรรเทาหรือรักษาอาการปวดให้หาย สำหรับในผู้ที่มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (PID) หรือผู้ที่ติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการ
  2. การผ่าตัด (Surgery) แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดสำหรับอาการปวดท้องน้อยรุนแรงที่มีสาเหตุจาก เนื้องอกมดลูก ซีสต์รังไข่ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน (Pelvic organ prolapse) โดยวิธีการผ่าตัดสามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ
    • 2.1 การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Abdominal Surgery) ในผู้ที่มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่กดเบียดอวัยวะข้างเคียง
    • 2.2 การผ่าตัดส่องกล้อง (Endoscopic surgery) แบบแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว (MIS) เพื่อช่วยลดการเสียเลือด ร่นระยะการพักฟื้น และลดอาการปวดหลังการผ่าตัด
  3. การทำกายภาพบำบัด (Physical therapy) แพทย์อาจพิจารณาการทำกายภาพบำบัดสำหรับอาการปวดท้องน้อยที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เพื่อบำบัดรักษาอาการปวดกร็งกล้ามเนื้อ และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตั้งแต่บริเวณใต้สะดือลงไปรวมถึงบริเวณอุ้งเชิงกรานที่ทำหน้าที่รองรับอวัยวะภายใน เช่น กระดูกหัวหน่าว กระเพาะปัสสาวะ มดลูก ปีกมดลูก หรือลำไส้

Pelvic Pain 3

ปวดท้องน้อย มีวิธีการป้องกันอย่างไร ?

อาการปวดท้องน้อยบางสาเหตุสามารถป้องกันได้ เช่น การทานอาหารปรุงสุกใหม่เพื่อป้องกันอาหารเป็นพิษ หรือการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องน้อยหลายสาเหตุไม่สามารถป้องกันได้ เมื่อพบความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจอาการอย่างละเอียด วิธีช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดท้องน้อย ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องยืนหรือเดินเป็นเวลานาน ๆ
  • ทานอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดท้องน้อยจากสาเหตุท้องผูก หรือโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อช่วยให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อแข็งแรงอยู่เสมอ
  • ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกายทุกครั้งเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการปวดเกร็งท้องน้อย
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อช่วยให้แพทย์ค้นหาความเสี่ยงโรคหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน และช่วยให้ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดท้องน้อย คืออะไร ?

อาการปวดท้องน้อยเฉียบพลันหรือเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนจากอาการปวดท้องน้อย เช่น

  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (PID) อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝี หรือหนองสะสมในอวัยวะระบบสืบพันธุ์สตรีที่อาจส่งผลเสียต่อท่อนำไข่ รังไข่ มดลูก หรืออวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานที่หากปล่อยไว้อาจเกิดการติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
  • ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) อาการไส้ติ่งอักเสบที่มีอาการปวดรุนแรงบริเวณท้องน้อยขวา เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน หากไส้ติ่งอักเสบแตก อาจเกิดการแพร่กระจายภายในช่องท้องและเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) เกิดจากการที่อวัยวะภายในช่องท้องเกิดการอักเสบติดเชื้อจากแบคทีเรีย หรือเชื้อราจากหลายสาเหตุ เช่น กระเพาะอาหารทะลุ ลำไส้ทะลุ ปีกมดลูกอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

Pelvic Pain 2

ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ปวดท้องน้อยเรื้อรังไม่หาย สัญญาณอันตรายที่ควรรับการตรวจ

ผู้ที่มีอาการปวดท้องน้อยบ่อย ๆ ปวดท้องน้อยเรื้อรังไม่หาย ปวดท้องน้อยรุนแรงจนตัวงอไม่สามารถยืนตัวตรงได้ ผู้ที่ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะปนเลือด หรือผู้ที่ปวดท้องน้อยอย่างมากระหว่างการตั้งครรภ์ ควรรีบพบแพทย์ผู้ชำนาญการที่โรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยภายในช่องท้องอย่างละเอียดเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดท้องน้อย การเข้ารับการตรวจตั้งแต่เมื่อเริ่มพบความผิดปกติจะนำไปสู่การการรักษาได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้กลับมามีสุขภาพแข็งแรง พร้อมสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 12 ก.พ. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ชญานิศ อภิรักษ์วิริยะ

    พญ. ชญานิศ อภิรักษ์วิริยะ

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
    Obstetrics and Gynecology, Reproductive Endocrinology
  • Link to doctor
    พญ. สาวินี รัชชานนท์

    พญ. สาวินี รัชชานนท์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
    Obstetrics and Gynecology, Reproductive Endocrinology, Gynecologic Endoscopy
  • Link to doctor
    พญ. นลินา ออประยูร

    พญ. นลินา ออประยูร

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
  • Link to doctor
    รศ.พญ. อารีย์พรรณ โสภณสฤษฎ์สุข

    รศ.พญ. อารีย์พรรณ โสภณสฤษฎ์สุข

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
    Obstetrics and Gynecology, Gynecologic Oncology
  • Link to doctor
    นพ.  วิวรรธน์  ชินพิลาศ

    นพ. วิวรรธน์ ชินพิลาศ

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
    Obstetrics and Gynecology, Reproductive Endocrinology
  • Link to doctor
    ผศ.พญ. พรทิพย์ สิรยาภิวัฒน์

    ผศ.พญ. พรทิพย์ สิรยาภิวัฒน์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
    Infertility, Fertility Preservation, Reproductive Endocrinology, Gynecologic Endoscopic Surgery
  • Link to doctor
    รศ.นพ. สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์

    รศ.นพ. สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
    Obstetrics and Gynecology, Reproductive Endocrinology
  • Link to doctor
    พญ. พิมพกา ชวนะเวสน์

    พญ. พิมพกา ชวนะเวสน์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • สตรีวัยหมดประจำเดือน
    • เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
    Infertility, Menopause, Fertility Preservation, Reproductive Endocrinology
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    นพ. พิพัฒน์ จงกลสิริ

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
    Reproductive Endocrinology, Obstetrics and Gynecology
  • Link to doctor
    นพ. พันธ์กวี ตันติวิริยพันธุ์

    นพ. พันธ์กวี ตันติวิริยพันธุ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
    Reproductive Endocrinology, Obstetrics and Gynecology